วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

บทที่ 1เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น

เศรษฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาหนึ่งของสังคมศาสตร์ เป็นการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ กิจกรรมการผลิต การกระจายสินค้าและบริการต่างๆที่ผลิตได้ไปสู่ผู้บริโภคและผู้ใช้บริการ กิจกรรม ทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน เพราะเราต่างก็คือผู้ผลิตและ/หรือ ผู้บริโภค เศรษฐศาสตร์จึงมิใช่วิชาที่อยู่ไกลตัว หากเราได้ศึกษาและทำความเข้าใจกฎเกณฑ์และเนื้อหาของวิชาเศรษฐศาสตร์ไปตามลำดับขั้น ก็ย่อมจะเกิดความเข้าใจในสาขาวิชานี้ได้ไม่ยากนัก
ความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์
โดยทั่วไปก่อนที่จะศึกษาอะไร สิ่งที่ผู้ศึกษาควรจะต้องทราบเป็นลำดับแรกก็คือสาขาวิชานั้นๆเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องใด สำหรับการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ (Economics) ก็เช่นเดียวกัน มีผู้รู้ได้ให้คำนิยามของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้มากมายหลายท่าน อาทิ
อัลเฟรด มาร์แชลล์ (Alfred Marshall) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้กล่าวถึงความหมาย ของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้ในหนังสือ Principle of Economics ว่าเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม ของมนุษย์ทั้งระดับบุคคลและสังคม ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อการดำรงชีพให้ได้รับความสุขสมบูรณ์
พอล แซมมวลสัน (Pual Samuelson) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้ให้คำนิยามวิชาเศรษฐศาสตร์ว่าคือวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการที่มนุษย์และสังคมจะโดยใช้เงินหรือไม่ก็ตาม ตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดไปในการผลิตสินค้าและบริการ และจำหน่ายจ่ายแจกสินค้า และบริการเหล่านั้นไปยังกลุ่มบุคคลต่างๆในสังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ส่วนคำนิยามที่ได้รับความนิยมได้แก่คำนิยามของไลโอเนล รอบบินส์ (Lionel Robbins) ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือชื่อ An Essay o­n the Nature and Significance of Economic Science ว่าเศรษฐศาสตร์คือวิชาที่ศึกษาถึงการเลือกหาหนทางที่จะใช้ปัจจัยการผลิตอันมีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามจุดประสงค์ที่มีอยู่อย่างนับไม่ถ้วน
ประยูร เถลิงศรี ให้คำนิยามไว้ในหนังสือ หลักเศรษฐศาสตร์ ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวกับการศึกษาว่ามนุษย์เลือกตัดสินใจอย่างไรในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อผลิตสิ่งของและบริการ และแบ่งปันสิ่งของและบริการเหล่านั้นเพื่ออุปโภคและบริโภคระหว่างบุคคล ต่างๆในสังคม ทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต
มนูญ พาหิระ ให้คำนิยามไว้ในหนังสือ ทฤษฎีราคา ว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาในเรื่อง ที่เกี่ยวกับการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจมาทำการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองหรือบำบัดความต้องการของมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น